วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554


                 
               ดนตรีพื้นบ้าน (Folk Music)
               ลักษณะของดนตรีพื้นบ้าน คือ   ดนตรีทีมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมในกลุ่มสังคมทุกกลุ่มทั่วโลก   เพลงพื้นบ้านมักจะเป็นเพลงที่มีการร้องประกอบกันส่วนมาก จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงพื้นบ้าน   หรือ Folk song โดยปกติดนตรีพื้นบ้านมักจะมีลักษณะดังนี้
               1. บทเพลงต่างๆ ตลอดตนวิธีเล่น วิธีร้อง มักจะได้รับการถ่ายทอดโดยการสั่งสอนกันต่อๆมาด้วยวาจา และการเล่นหรือการร้องให้ฟัง การบันทึกเป็นโน้ตเพลงไม่ใช่ลักษณะดั้งเดิมของดนตรีพื้นบ้าน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดดนตรีพื้นบ้านโดยการใช้โน้ตดนตรีกันบ้างแล้ว   ตัวอย่างเพลงพื้นบ้านของไทยที่ถ่ายทอดกันมา  เช่น  เพลงเรือ  เพลงลำตัด   จะเห็นได้ว่าเพลงเหล่านี้มีการร้องเล่นกันมาแต่โบราณไม่มีการบันทึกเป็นตัวโน้ตและสอนกันให้ร้องจากตัวโน้ตแต่อย่างใด

                 2. เพลงพื้นบ้านมักเป็นบทเพลงที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ มิใช่แต่ขึ้นมาเพื่อให้ฟังเฉยๆ หรือเพื่อให้รู้สึกถึงศิลปะของดนตรีเป็นสำคัญ   จะเห็นได้ว่า   เพลงกล่อมเด็กมีขึ้นมาเพราะต้องการใช้ร้องกล่อมเด็กให้นอน    เพลงเกี่ยวข้าวใช้ร้องเล่นในเทศกาลเกี่ยวข้าว เนื่องจากเสร็จภารกิจสำคัญแล้ว    ชาวนาจึงต้องการเล่นสนุกสนานกัน    หรือเพลงเรือใช้ประกอบการเล่นเรือหน้าน้ำหลาก   เป็นต้น            
                 3. รูปแบบของเพลงพื้นบ้านไม่ซับซ้อน   มักมีทำนองหลัก 2-3 ทำนองร้องเล่นกันไป    โดยการเปลี่ยนเนื้อร้อง     จังหวะประกอบเพลงมักจะซ้ำซากไปเรื่อยๆ อาจจะกล่าวได้ว่า   ดนตรีหรือเพลงพื้นบ้านเน้นที่เนื้อร้อง    หรือการละเล่นประกอบดนตรี เช่น การฟ้อนรำหรือการเต้นรำ
               4. ลักษณะของทำนองและจังหวะเป็นไปตามลักษณะของกิจกรรม   หรือการละเล่น   เช่น เพลงกล่อมเด็กจะมีทำนองเย็นๆเรื่อยๆ จังหวะช้าๆ เพราะจุดมุ่งหมายของเพลงกล่อมเด็กต้องการให้เด็กผ่อนคลายและหลับกันในที่สุด     ตรงกันข้างกับเพลงรำวงจะมีทำนองและจังหวะสนุกสนานเร็วเร้าใจเพราะต้องการให้ทุกคนออกมารายรำเพื่อความครึกครื้น
               5. ลีลาการร้องเพลงพื้นบ้านมักเป็นไปตามธรรมชาติ    การร้องมิได้เน้นในด้านคุณภาพของเสียงสักเท่าใด     ลีลาการร้องไม่ได้ใช้เทคนิคเท่าใดนัก   โดยปกติเสียงที่ใช้ในการร้องเพลงพื้นบ้านไม่ว่าชาติใดภาษาใดมักจะเป็นเสียงที่ออกมาจากลำคอมิได้เป็นเสียงที่ออกมาจากท้องหรือศีรษะ ซึ่งเป็นลีลาการร้องเพลงของพวกเพลงศิลปะ  
               6. เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ   เป็นส่วนใหญ่   ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ทำให้เราได้ทราบว่า   ดนตรีพื้นบ้านที่ได้ยินได้ชมเป็นดนตรีของท้องถิ่นใด หรือของชนเผ่าใด   ภาษาใด   ตัวอย่างเช่นดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสานมักจะมีแคน     โปงลาง   ทางภาคเหนือจะมีซึง สะล้อ เป็นต้น
                เพลงพื้นบ้านจะพบได้ในทุกประเทศทั่วโลก   เป็นเพลงที่มีผู้ศึกษาเก็บรวบรวมไว้    เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาติ   เช่น  ประเทศ ฮังการี   นักดนตรีศึกษา   คือ โคดายและบาร์ต๊อค   ได้รวบรวมเพลงพื้นบ้านของชาวฮังการีเอาไว้    และนำมาใช้สอนอนุชนรุ่นหลัง    นอกจากนี้ยังมีผู้ประพันธ์เพลงหลายคนนำเอาทำนองเพลงพื้นเมืองมาทำเป็นทำนองหลักของเพลงที่ตนประพันธ์   เช่น  บาร์ต๊อค, ดโวชาค

ที่มา 
www.images.suwamon.multiply.multiplycontent.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น