วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

แคนลาว ผ่านฮูปแต้ม

แคนลาว ผ่านฮูปแต้ม


แคนลาว ผ่านฮูปแต้ม
เครื่องเป่าคาบสมุทรอินโดจีน

ท่านผู้อ่าน เวลาให้นึกถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เราจะนึกถึงเครื่องดนตรีชิ้นไหนก่อน ผมเชื่อว่าทุกคนจะนึกถึง แคนเป็นอันดับต้นๆ

ก็คุณลองคิดดูสิ ไปงานบุญพื้นบ้าน หรือเทศกาลศิลปวัฒนธรรมไหนในถิ่นอีสานแถวไหน เสียงแคนมีไม่ขาดสาย ตามด้วยเพื่อนเสียงพิณ โปงลาง และหวูด

ผมเองก็ชอบฟังเสียงแคน แต่ก็อธิบายให้ไม่ได้ว่าชอบเพราะอะไร รู้เพียงแต่ว่าชอบเสียง ฟังแล้วเพลินและสนุกไปกับจังหวะเสียงแคน

วันนี้ ผมจึงนำเสนอเรื่องแคนมาเล่าสู่กันฟัง ก็หยิบยกมาจากในหนังสือ ซ่อนไว้ใน สิม ก-อ ในชีวิตอีสานเขียนโดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว เล่าเรื่องชีวิตชาวอีสานผ่านจิตรกรรมฝาผนัง ที่เรียกกัน ฮูปแต้มในสิมหรือโบสถ์ ช่างวาดหรือ ช่างแต้มถ่ายทอดเรื่องราวพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเวสสันดรชาดก กับในส่วนเรื่องบุญประเพณี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ทำให้เราได้แลเห็นวิถีชีวิตในท้องถิ่นนั้นๆ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งผ่านฮูปแต้ม เช่นเดียวกันกับเรื่อง ค.แคนที่อาจารย์อู่ทองได้เล่าความเป็นมา

ในสมัยก่อน ว่ากันว่าหนุ่มอีสานทุกคนต้องเป่าแคนเป็น แต่ไพเราะแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยก็เอาไว้เป่าเล่นแก้เหงา เวลาเลี้ยงควายอยู่คนเดียว แต่ที่ต้องฝึกกันเอาเป็นเอาตายนั้นเห็นจะเป็นไว้เลาเล่นสาวหรือจีบสาว ผู้บ่าวจะนิยมเป่าแคนจีบไปด้วย บางทีเป่าเล่นสาวตามตูบ จนมีลำที่มีชื่อตลกๆ ว่าลำเลาะตูบในงานบุญต่างๆ ก็ต้องมีหมอแคนหมอลำ อย่างที่ช่างแต้มเขาแต้มไว้ให้ดูอยู่ทุกวัดในขบวนแห่ผะเหวด

ถ้าขาดแคนเสีย ก็จะลำบ่ม่วน แล้วถ้าไม่มีหมอลำ งานก็เหงา จนงานแทบไม่มีสีสันว่าอย่างนั้นเถอะ

นอกจากจะเป่าเล่นเดี่ยวๆ แล้ว แคนยังเล่นร่วมกับพิณ โปงลาง ฯลฯ ด้วย ชาวอีสานถือว่าแคน เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะการบรรเลงดนตรีอีสานทุกอย่างต้องอิงแคนเป็นหลัก และทำนองเพลงของเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็ล้วนแต่ยึดแบบอย่างของเพลงแคนทั้งสิ้น

แคน สามารถเล่นได้ทั้งทำนองช้าๆ อ่อนหวาน ที่เรียกกันว่า ทางยาวและท่วงทำนองกระชับ รวดเร็ว สนุกสนาน ร่าเริง ซึ่งเป็น ทางสั้นจังหวะและท่วงทำนองของแคน เขาเรียกว่า ลายลายแคนส่วนใหญ่เป็นการเลียนลีลา และท่วงทำนองของเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ เช่น ลายแม่ฮ้าง กล่อมลูกนั้นถ่ายทอดเสียงกล่อมลูกของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดาย ฟังแล้ววิเวกเหวโหว

ส่วนลายแมงภู่ตอมดอก จะเป่าแคนให้เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย คล้ายแมลงภู่เวลาบินตอมดอกไม้ ใน ขณะที่สายลมพัดพร้าวนั้นเลียนเสียงของใบไผ่ และใบมะพร้าวเมื่อถูกลมพัดไกว

ชื่อลายแคน ที่เขาตั้งจริงๆ รู้สึกเห็นว่าภาพดี บางชื่อก็ตั้งอย่างมีอารมณ์ขัน ชื่อที่ชอบมากมีอยู่ลายหนึ่ง นัยว่าเป็นทำนองที่ผู้บ่าวใช้เป่าสั่งลาสาว เมื่อหมดเวลาลงข่วง จะกลับบ้านทั้งทีก็ต้องคอยออดอ้อนให้สาวหลงอย่างสุดฝีมือ ผู้เฒ่าที่อยู่บนนอนฟังด้วยความหลงใหล พยายามตะแคงหูฟังซะจนหัวตกหมอน เลยเรียกลายแคนนั้นว่า ลายผู่เถ้าหัวตกหมอนหรือเรียกสั้นๆ แค่ ลายหัวตกหมอน” !!

ลายแคนแต่ละลายนั้นจะใช้พรรณนาเรื่องราวที่ต่างกัน ลายแคนที่เป็นพื้นฐานก่อนจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ และเป็นลายที่นิยมเล่นประกอบหมอลำที่สุดคือลาย สุดสะแนนซึ่งเป็นลายครูของแคนที่มีจังหวะกระชับและตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา

แต่ถ้าอยากได้ท่วงทำนองที่ช้า อบอุ่น ก็มักจะเล่นลายอ่านหนังสือใหญ่ หรือลายอ่านหนังสือน้อย ทั้ง 2 ลายนิยมใช้พรรณนาชีวิตของคนอีสาน ที่มีความรักและความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู้อย่างมีความรักและความเพลิดเพลิน 

แคน ว่ากันเป็นเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ นักดนตรีชาติพันธุ์วิทยาบางคนถึงกับเชื่อว่าแคน เป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยแคนก็เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดเดียวที่สามารถบรรเลงทำนอง สร้างเสียงประสาน คอร์ดและจังหวะได้ในเวลาเดียวกันด้วยผู้บรรเลงคนเดียว
ที่แน่ๆ แคนเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดของโลกชนิดหนึ่ง มีการค้นพบแคนสัมฤทธิ์ที่มีอายุกว่า 4,000 ปีที่ยูนนาน พบลวดลายรูปคนเป่าแคนบนกลองมโหระทึกจากดองซอนในเวียดนาม ซึ่งมีอายุประมาณ3,000 ปีมาแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่นิยมแพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ และหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชีย
 
สันนิษฐานว่าแคน น่าจะพัฒนามาจากการเป่าไม้อ้อ กอข้าว ไม้ซาง และไม้ไผ่ ซึ่งเป็นเครื่องเป่ายุคดั้งเดิม ต่อมาก็มีการคิ
เอาไม้ซางอันเดียวเสียบเข้ากับผลน้ำเต้าแห้ง เกิดเป็น ปี่น้ำเต้าหรือที่ไทยเรียกว่า เรไรซึ่งเป่าได้เสียงเดียว
ต่อมาจึงคิดใช้ไม้ซางหลายๆ อันเสียบเข้ากับน้ำเต้า เพื่อให้เป่าได้หลายเสียง ท้ายสุดก็เลิกใช้น้ำเต้าเป้นกระเปาะลม แต่เอาไม้เนื้อแข็งมาถากและเจาะรูปเป่า โดยมีไม้ซางที่เรียกว่า ไม้กู่แคนเสียบเหมือนเดิม แต่ก็ยังคงเรียกกระเปาะลมว่า เต้าแคนและยังใช้ลักษณะนามของแคนเป็น เต้าอยู่
ไม่มีใครรู้แน่ว่า ทำไมถึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า แคนมีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเรียกตามเสียงดน ตรีที่ฟังเหมือน แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคนแต่บางคนก็เห็นว่าคำว่า แคนนี้น่าจะเรียกตามไม้ตะเคียน (ไม้แคนในภาษาอีสาน) ที่นิยมนำมาใช้ทำเต้าแคนมากกว่า ในขณะที่บางคนก็อ้างอิงตำนานกำเนิดของแคนไปโน่นเลย
ไม่มีหลักฐานว่า ใครหรือวัฒนธรรมใดเป็นผู้ริเริ่มคิดแคนขึ้นมา มีแต่นิยายปรัมปราว่าหญิงหม้ายผู้หนึ่งหลงใหลในเสียงนกการเวกยิ่งนัก จึงคิดอ่านทำเครื่องดนตรีที่ให้ท่วงทำนองไพเราะเหมือนนกการเวก โดยนำไม้ไผ่น้อยมาติดกันแล้วใช้ปากเป่า
เมื่อไปเป่าโชว์ให้พระเจ้าปเสนทิโกศล  เป่ารอบแรก พระองค์ก็ว่าพอฟังได้ แต่พอรอบสอง พระองค์ตรัสว่า เทื่อนี่แคนแด่หรือครั้งนี้ดีขึ้นหน่อย ก็เลยโปรดให้เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า แคนตามคอมเมนต์ของพระองค์นั่นแล คิดในทางตลก กษัตริย์แขกแต่เว้าลาวเนาะ คนคิดตำนานนี้ยกย่องแคนว่าทำเสียงได้ไพเราะ ปานเสียงนกการเวก ซึ่งเป็นนกในป่าหิมพานต์ที่ร้องเพลงเพราะนักเพราะหนา ฟังแล้วเว่อร์มั้ย
ในรัชกาลที่ 3 มีมิชชันนารีชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อกุตสลาฟฟ์ ได้เขียนบันทึกการเดินทางไปลาวเอา ไว้ว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ไพเราะที่สุดเท่าที่พบในเอเชียถ้าได้บรรเลงโดยฝีมือนักดนตรีชาวยุโรปชั้นครู เครื่องดนตรีชนิดนี้จะเป็นเครื่องดนตรีที่สมบูรณ์แบบชนิดหนึ่งเท่าที่เคยมีมา
สมิธ นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ที่เดินทางไปลาวในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกว่าเสียงแคนนั้น ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง จนผู้ฟังถึงกับขนลุกทีเดียวและยังบอกอีกด้วยว่า คนลาวนั้นงดงาม และมีรสนิยมทางดนตรีจนได้รับการขนานนามว่าชาวกรีกแห่งคาบสมุทรอินโดจีน


แคน ถือเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป่าสื่อสารกับเทพเจ้า เช่น กับแถน ในสมัยอยุธยาแคนใช้บรรเลงขับกล่อมในพระราชฐานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสังข์ ปี่ไฉน ฯลฯ (ที่ยังรักษา ฐานะไว้ได้ และใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ มาจนถึงทุกวันนี้) เมื่อต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง และยังเป็นที่นิยมเล่นกันในราชสำนัก พระราชพงศาวดาร ร.4 บันทึกไว้ว่า พระปิ่นเกล้าฯ นั้นโปรดแคน ขนาดที่ทรง ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็นพระองค์ก็สำคัญว่าลาวเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ในปีที่พระปิ่นเกล้าฯ สวรรคตนั้นเอง ก็มีประกาศ ร.4 ห้ามเล่นและห้ามฟังแอ่วลาว โดยอ้างเหตุผลว่าเกรงวัฒนธรรมการละคร ฟ้อนรำ ปี่พาทย์มโหรี เสภา สักวา เพลงปรบไก่ เพลงเกี่ยวข้าวแบบ ไทยจะสูญหาย
ลองคิดดูเอาเล่นๆ ดูเถอะ แคนตีตลาด จนอย่างอื่นเกือบจะสูญพันธุ์ แล้วยังอ้างด้วยว่าการเล่นแอ่วลาวนั้นมีส่วนทำให้น้ำท่าอาหารไม่บริบูรณ์อย่างเคย จึงให้งดเสีย แถมมีประกาศด้วยว่า ถ้ามิฟัง ยังขืนเล่นลาวแคนอยู่ จะเรียกเก็บภาษีให้แรง ใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกแต่เจ้าของที่เล่นผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อเรียกว่าทั้งปลอบทั้งขู่ แล้วแคนลาวจะเหลืออะไร
กระบวนการลดฐานะของแคนยังดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนในที่สุด ตกมาถึงสมัยเรา แคนก็เลยกลายเป็นเครื่องดนตรีของ เสี่ยวบ้านนอกไป ถ้าอยากรู้ว่าแคนเคยเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงอย่างไร ก็คงต้องไปหาเพลงในราชสำนักลาวมาฟัง

ที่มา  http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=8334

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น