ลายแคนพื้นบ้านอีสาน
คีย์ลายสุดสะแนน
ลายสุดสะแนน เป็นลายที่เวลาบรรเลงแล้ว ทุกครั้งที่จบลายเพลง ต้องลงที่เสียงซอล อันเป็นเสียงหลักของทำนอง เสมอ และลูกแคนเสียงซอลนี้ มีชื่อว่า สะแนน เมื่อเพลงจบ หรือสิ้นสุดลงที่ลูกสะแนน จึงเรียกลายนี้ว่า “ลายสุดสะแนน” ซึ่งสื่อความหมายว่า สิ้นสุดเพลงที่ลูกสะแนน....
ส่วนอีกความหมายหนึ่งของลายสุดสะแนน คือ ลายนี้เป็นลายที่ไพเราะมากๆ เป็นที่สุดของที่สุดของลายแคนทั้งหลาย ถือว่าเป็นลายชั้นครูของแคน เพราะเล่นได้ยากกว่าลายอื่นใดทั้งหลาย หมายถึงบรรเลงให้ได้ระดับชั้นครูนั้น ยาก... ใครเล่นได้ ก็ถือว่าสุดยอดทางการเป่าแคนเลยทีเดียว ดังนั้น บรรดาลายทั้งหลาย ยากสุดๆ ก็ลายนี้ ไพเราะสุดๆ ก็ลายนี้ จึงเรียกลายนี้ว่า “สุดสะแนน”..... อันหมายถึง สิ้นสุดของเส้นสายแนน… สาว(ชัก)ดึงสายแนนมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบจุดสิ้นสุด... จุดสิ้นสุด คือจุดหมายปลายทาง เมื่อพบจุดสิ้นสุดอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายแล้ว ถือว่า สิ้นสุดสายแนน.... การฝึกแคนก็เช่นกัน เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ จนฝึกได้ลายที่ยากที่สุด อันเป็นลายชั้นครูของแคนแล้ว การฝึกแคนนั้น ก็ถือว่าสุดสายแนน เช่นกัน... สายแนนก็คือสะแนน ... สุดสายแนน ก็คือสุดสะแนน (เกี่ยวกับสายแนน ขอให้ค้นดูจากวรรณคดีอีสาน เรื่อง สายแนนนาแก่น)
ลายสุดสะแนน มีเสียงซอล (เสียง G เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนอง 6 โน้ต คือ ซ ล ท ด ร ม
เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายสุดสะแนน ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม
เสียงฟา เมื่อนำมาใช้ในคีย์ลายสุดสะแนน จะไม่เข้าพวกเขา.... หากจะให้เข้าพวกจริงๆ ต้องเป็นเสียงฟาชาร์ป (F#) ซึ่งแคนไม่มีเสียงฟาชาร์ป
อีกอย่างหนึ่ง ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายสุดสะแนนคือ “ซ ล ด ร ม”
บันไดเสียงลายสุดสะแนน ควรเรียกว่าอยู่ในบันไดจีโหมด ออกสำเนียงเมเจอร์ ไม่ใช่บันได จีเมเจอร์ แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง ซอล หรือจี และใช้เสียงซอล เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันไดซีเมเจอร์ แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant) คือเสียง G เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายสุดสะแนน มีลายใหญ่เป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายใหญ่มีเสียง A หรือลา เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายสุดสะแนน จึงต้องมีเสียง C หรือ โด เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงโด หรือ C เป็นโทนิค ก็คือบันไดซีเมเจอร์ นั่นเอง
ดูตารางเทียบคู่โทนิคทางเมเจอร์และไมเนอร์
Tonic Major | Tonic Minor | |
คู่โทนิค | C | Am |
F | Dm | |
G | Em |
ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/?transaction=sudsanan.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น