วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

โหวด

 โหวด


             โหวด เป็นเครื่องดนตรีของชาวอีสาน หรือ ของเล่นชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ใช้แกว่งเล่นเหมือนธนู ต่อมาโหวดได้ดัดแปลงมาเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน โหวดเกิดขึ้นในสมัยใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้แน่นอนหรือยืนยันได้แต่ก็มีประวัติที่เล่าเป็นนิยาย ปรัมปราสืบต่อกันมาดังนี้
            ในสมัยก่อนพุทธกาล มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองพันทุมาลัย เมืองนั้นมีพระโพธิสัตว์ เสวยชาติมาเป็นพระยาค้นคาก สมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องพระยาแถน เรื่องฝน ฟ้า อากาศ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปบนบานศาลกล่าวต่อพระยาแถน แต่พอมีพระยาคันคาก ก็ทำให้คนและสัตว์หันไปนับถือพระยาคันคาก ทำให้พระยาแถนไม่พอใจ ฝนฟ้าที่เคยตกต้องตามฤดูกาล ก็ทำให้เมืองนี้แห้งแล้งเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน คนและสัตว์รวมทั้งพืชพันธ์ธัญญาหารล้มตาย ทำให้มวลมนุษย์และสัตย์เดือดร้อนก็เลยทำสงครามกับพระยาแถน แต่มนุษย์ก็ไม่ชนะสักที จึงมาปรึกษากับพระยาคันคาก พระยาคันคากก็รับอาสาจะไปสู้กับพระยาแถน พระยันคากก็ นำทัพไปรบกับพระยาแถน แต่งตั้งให้พระยาปลวกทำสะพานดินเป็นถนนขึ้นสู่เมืองพระยาแถน ให้พระยามดขึ้นไปสู่เมืองพระยาแถนก่อนเพื่อไปเจาะดาบอาวุธยุทธโธปกรณ์ ให้จวนจะหัก และพระยาขี้เข็บ แมงงอด อสรพิษทั้งหลายไปดักอยู่ตามเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ ที่ทหารพระยาแถนใช้      พอถึงวันแรม 7 ค่ำ พระยาคันคากก็ นำทัพขึ้นไปเจรจาขอฝนกับพระยาแถน พระยาแถนก็โกรธและไม่ประทานฝนให้ แล้วก็ประกาศสงครามกัน แผนต่างๆ ที่พระยาคางคก วางเอาไว้ก็เริ่มปฏิบัติการ ขี้เข็บ แมงงอด ก็ออกมากัดทหารให้ล้มตาย   ส่วนพระยาคันคากกับพระยาแถนก็ต่อสู้กันบนหลังช้าง สู้กันไปกันมา พระยาแถนใช้ดาบฟันพระยาคันคาก ดาบก็หัก จะใช้ตะขอเกี่ยว ตะขอก็หัก ในที่สุดพระยาคันคากได้จังหวะ ก็ใช้บ่วงนาคบาศก์ จับพระยาแถนได้จนตกจากหลังช้าง พระยาแถนจึงยอมตกลงตามสัญญาโดยมีเงื่อนไขกันอยู่3ประการคือ
           ประการที่ 1  ให้ พระยาแถน ประทานน้ำฝนให้เหมือนเดิม ถึงเดือนหก ถ้าฝนไม่ตกมนุษย์จะทำบั้งไฟจุดขึ้นไปเป็นการบอกกล่าวเตือนพระยาแถนให้ประทาน ฝนลงมาให้มนุษย์
             ประการที่   2   การได้ยินเสียง กบ อึ่งอ่าง เขียดร้อง แสดงว่ามนุษย์ได้รับน้ำฝนแล้ว
            ประการที่  3  เมื่อ ใดที่ได้ฝนเพียงพอแล้วก็จะแกว่งโหวดขึ้นสู่ท้องฟ้าให้เกิดเสียงดังเป็น สัญญาณ ให้พระยาแถนทราบว่าได้รับน้ำฝนเพยงพอแล้วเพื่อให้ลดปริมาณฝนลงหรือให้ฝนหยุด
            ปัจจุบัน นี้โหวดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมมาก และเป็นเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงเข้ากับเครื่องดนตรีอีสานได้ เช่น พิณ แคน โปงลาง กลอง และเกิดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองอีสานดังปรากฏในปัจจุบันนี้
                                                                                     
ส่วนประกอบของโหวด 



เทคนิคการเป่าโหวด


                             เทคนิคการเป่าโหวดมีดังนี้
     
       1. ใช้มือซ้ายหรือมือขวาจับโหวด โดยให้หัวแม่มืออยู่ที่ลูกที่ 1ลูกใหญ่ นิ้วชี้อยู่ในลูกที่ 4
       2.  นำหัว (ตรงขี้สูท) มาเป่า โดยเป่าลมออกให้เกิดเสียง และให้ขยับหาเสียงที่ชัดมาที่สุด
       3.  ฝึกเป่าโดยการไล่เสียงจากเสียงสูงไปหาเสียงต่ำหรือ จากเสียงต่ำไปหาเสียงสูง
       4.  ฝึกเป่าลมออกให้ยาวๆ
       5.  ฝีกเป่าลายง่ายๆ เช่น ลายโปงลาง เต้น เป็นต้น
                           
                            ลักษณะเสียงโหวด
ที่มา  http://pinyasakonsorn.igetweb.com/index.php?mo=3&art=219646

โปงลาง

       โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ผู้พัฒนา


     นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา

 วิธีทำ

       โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลางที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาดซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ


การตี
       การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน มี หมอเคาะกับหมอเสิฟ หมอเคาะ คือผู้ที่ตีทำนองของเพลงหรือลายนั้น ส่วนหมอเสิฟ คือผู้ที่ตีประสานจะตี 2 ลูก เช่น ตี ลา-มี หรือ ซอล-เร เป็นต้น การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดย การสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" เพลง "ลายกาเต้นก้อน" เพลง "ลายแมงภู่ตอมดอกไม้" เป็นต้น

 วิวัฒนาการของวงโปงลาง

        แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ยังไม่มีการผสมวงกันแต่อย่างใดใช้เล่นเป็นเครื่องเดี่ยวตามความถนัดของนักดนตรีที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ โอกาสที่จะมาร่วมเล่นด้วยกันได้ก็ต่อเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ เช่น บุญเผวด จะมีการแห่กันหลอนของแต่ละคุ้มหรือแต่ละหมู่บ้านมาที่วัดคุ้มไหนหรือหมู่บ้านไหนมีนักดนตรีอะไรก็จะใช้บรรเลงและแห่ต้นกันหลอนมาที่วัด พอมาถึงวัดก็จะมีการผสมผสานกันของแต่ละเครื่องมือ เช่น พิณ แคน ซอ กลองเป็นต้น หลังจากผสมผสานกันโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเชื่อมเข้าหากันโดยเฉพาะนักดนตรีจะไปมาหาสู่กันร่วมกันเล่น ร่วมกันสร้าง ในที่สุดก็กลายเป็นวงดนตรีและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น วงโปงลาง ปี พ.ศ.2505 หลังจากอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาพัฒนา การตีและการทำเกราะลอจนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโปงลางและได้รับความนิยมจากชาวบ้านโดยทั่วไป จากนั้นอาจารย์เปลื้องได้เกิดแนวความคิด ในการนำเอาเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่นๆ มาบรรเลงรวมกันกับโปงลาง จึงได้รวบรวมสมัครพรรพวกที่ชอบเล่นดนตรี มาบรรเลงรวมกัน ปรากฏว่าเป็นที่แตกตื่นของชาวบ้าน พอตกเย็นก็จะมีคนมามุงดูขอให้บรรเลงให้ฟัง แต่ละวันหมดยาเส้น ไปหลายหีบ ทำให้ได้รับความนิยม และเป็นที่สนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีผู้ว่าจ้างไปบรรเลงเป็นครั้งแรกเนื่องในงานอุปสมบท ณ บ้านปอแดง ตำบลอุ่นเม่า อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 40 บาท เป็นที่ชื่นชอบของของผู้ที่พบเห็นและได้ฟังจากงานอุปสมบทของบ้านปอแดง และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงอีกในหลายๆ ที่ ปี พ.ศ.2511 อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำคณะโปงลางไปร่วมแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพรรษา 5 ธันวามหาราช จึงมีโอกาสที่ทำให้ได้พบกับนายประชุม อิทรตุล ป่าไม้อำเภอยางตลาด ซึ่งนายประชุมได้นำวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงประกอบลีลาศ มหรสพที่แสดงในคืนนั้นมีคณะหมอลำหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมอลำเป็นเพื่อนอาจารย์เปลื้อง ทั้งสองจึงไปขอยืมกลองชุดสากล เพื่อนำไปเล่นเข้ากับหมอลำ นายประชุมจึงไม่ขัดข้องแต่ต้องให้วงลีลาศเลิกก่อน หมอลำก็ทำการแสดงไปก่อนได้ครึ่งคืนก็ต้องพักทานข้าวตอนดึกจึงทำให้เกิดช่องว่างของเวทีผู้คนก็ยังไม่กลับยังรอดูหมอลำต่อ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี จึงได้นำเอาโปงลางที่ตนนำมาขึ้นแขวนบนต้นเสาของเวที ในขณะนั้นหัวหน้าหมอลำก็ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น โปงลางมาก่อน ทุกคนก็เกิดความสงสัยว่าอาจารย์เปลื้องนำอะไรขึ้นมาแขวนกับต้นเสาบนเวที แต่พอคณะโปงลางบรรเลงขึ้น ทุกคนต่างตกตะลึง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังตีอยู่ในขณะนั้นคืออะไร หลังจากหมอลำกินข้าวเสร็จผู้ชมก็ยังไม่ยอมให้เลิกเล่น ขอให้เล่นต่อแทนหมอลำไปเลยก็ได้ จากการแสดงในครั้งนั้นนี่เอง นายประชุม ได้ชวนอาจารย์เปลื้อง ไปอยู่ด้วยโดยฝากให้เข้าทำงานที่โรงเลื่อยยางตลาด นายประชุม อินทรตุล จึงได้สนับสนุนและตั้งวงโปงลางขึ้น ชื่อว่าวงโปงลางกาฬสินธุ์ โดยมอบหมายให้อาจารย์เปลื้อง เป็นหัวหน้าวง จากผลงานการแสดงที่หลังจากตั้งวงแล้วไม่นาน นายบุรี พรหมลักขโนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดต่อให้นำโปงลางไปแสดงออกรายการทีวีช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเผยแพร่ และท่านได้แนะนำว่าน่าจะมีชุดฟ้อนรำไปด้วยจะน่าดูยิ่งขึ้น นายประชุม อิทรตุล จึงมอบหมายให้คุณเกียง บ้านสูงเนิน คุณลดาวัลย์ สิงห์เรือง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ในขณะนั้น) และภรรยาของนายประชุมเองฝึกชุดฟ้อน ชุดแรก คือ รำซวยมือ ชุดที่สอง คือ ชุดเซิ้งภูไท ชุดเซิ้งสวิง ชุดบายศรีสู่ขวัญ และไทภูเขา ต่อมาคณะโปงลางกาฬสินธุ์ได้มีโอกาสไปแสดง ณ วังสวนจิตลดา วังละโว้ วังสวนผักกาด วังสราญรมย์ และแสดงเผยแพร่ในมหาลัยต่างๆ

ที่มา   http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87

ประวัติความเป็นมาของพิณ

ประวัติความเป็นมาของพิณ


        พิณเป็นเครื่องดนตรีในสกุลเครื่องสายซึ่งประกอบด้วย กะโหลกและคอ มีสายขึงใช้ดีด อาจดีดด้วยมือแผ่นพลาสติกหรือแม้แต่เศษวัสดุที่เป็นแผ่นถากออกมาจากเขาสัตว์หรือกระดองเต่า (Midgley.1978:167-179) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตตะ หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสำหรับดีดเป็นเสียงสันนิษฐานว่า ตตะนี้คงจะได้แบบอย่างมาจากที่ใช้สายขึ้นคันธนู เกิดการสั่นสะเทือน แต่สายธนูที่ทำหน้าที่เป็นตัวสั่นสะเทือนนั้นจะแตกต่างกันไปตามความยาว สั้นของคันธนู มีเสียงดังไม่มากนัก หาวัตถุที่ช่วยให้การเปล่งเสียงมากขึ้น จึงใช้วัตถุที่กลวงโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่น ผลน้ำเต้า กะโหลกมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่หรือไม้ที่ขุดทะลุทะลวงตลอด จึงเรียกส่วนนี้ว่า “วีณโปกขร” หรือกระพุ้งพิณ(Resonator)(อุดม อรุณรัตน์. 2526:91)

พิณของชนเผ่าสุเมเรียน ที่เรียกว่า ไลร์ มีมาแล้วก่อนคริสตศักราชถึง 3,000 ปี และใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มชนอียิปต์โบราณ กรีกโบราณและยุโรปสมัยกลาง ในแอฟริกา มันถูกใช้เล่นประกอบในพิธีกรรมบางอย่าง (Lsaacs and Martin.1982:225-226) ในลัทธิของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อมั่นว่าการบูชาด้วยเสียงดนตรีที่มีสายติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นวิถีอันที่จะบรรลุถึงซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระศิวะได้(เดอบาร์รี 2512:513)

ในทางพุทธศาสนานั้น วิถีพระโพธิญาณ ของสมเด็จพระมหาสัตว์ก็ได้อาศัยสายกลางแห่งพิณที่สมเด็จพระอัมรินทราธิราชทรงดีดถวายถึงได้ตรัสรู้สำเร็จสมโพธิญาณว่า การบำเพ็ญเพียรแสวงหาโมกษธรรมนั้น ถ้าเคร่งครัดนักก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายพิณให้ตึงเกินไปดีดแล้วย่อมขาดถ้าหย่อนยานนักย่อมไม่มีเสียงไพเราะเหมือนขึ้นสายพิณหย่อน แต่ถ้าทำอยู่ในขั้นมัชฌิมาปานกลาง ก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายแต่เพียงพอดีกับระดับเสียงย่อมจะให้เสียงดังกังวานไพเราะแจ่มใส ดังใจความในวรรณคดีเรื่อง พระปฐมสมโพธิถากลางถึงพิณไว้ในตอนทุกกิริยาปริวรรต ปริจเฉทที่ 8 ว่า

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตก ดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์ สามสายลงมาดีดถวายพระมหาสัตว์ สายหนึ่งเคร่งนัก พอดีดก็ขาดออกไป สายหนึ่งหย่อนนักดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียงและสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนเป็นปานกลางดีดเข้าก็บรรลือศัพท์ ไพเราะเจริญจิต พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตอันนั้นทรงพิจารณาแจ้งว่า มัชฌิมปฏิบัตินั้นเป็นหนทางพระโพธิญาณ

         วรรณคดีเรื่องสักกปัญหสูตร ได้กล่าวถึงพิณที่พระปัญจสังขรดีดไว้ในสักกปัญหสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (อุดม อรุณรัตน์.2526 :93-96) ไว้ว่า “พิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก กระพุ้งพิณนั้นแล้วด้วยทองทิพย์ คัณพิณแล้วด้วยแก้วอินทนิล สายนั้นแล้วด้วยเงินงามลูกบิดแล้วด้วยแก้วประพาฬ พลางขึ้นสายทั้ง 50 ให้ได้เสียงแล้วจึงดีดพิณให้เปล่งเสียงอันไพเราะ” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในการยังพิณให้เปล่งเสียงแล้ว พระปัญจสิงขรยังคิดแต่งเพลงขับได้อย่างไพเราะไว้เป็น “คีตูปสญหิโต ธมโม” ธรรมประกอบคีตอีกด้วย บรมครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัยจรสิงขรว่า เป็นครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัญจรสิงขรว่าเป็นครูทางดนตรี (การเปล่งเสียงจากสาย) จึงได้บรรจุไว้ในโองการไหว้ครูดุริยดนตรีไทยว่า “พระปัญจสิงขร พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น”

ในวรรณกรรมอีสาน 7เรื่อง ได้กล่าวถึงพิณไว้ดังตัวอย่างดังนี้ (สันทนา ทิพวงศา.2535:56-153)

เรื่องขูลูนางอั่ว ได้กล่าวถึงพิณว่า

ค้อมว่าแล้ว ตีเสบนันเนือง

พิณโพนขับ หน่อพุทธโธเมืองฟ้า

เรื่องท้าวก่ำกาดำ ได้กล่าวถึงพิณว่า

ดุริยาพร้อม ดนตรีพิณพาทย์

ระบำต่อยต้อง ชอได้ต่อยสาย

เรื่องผาแดงนางไอ่ ได้กล่าวถึงพิณว่า

มีทัง สมณาเจ้า ไหลมาเดียระดาษ

ฝูงหมู่ พิณพาทย์ฆ้อง ดังก้องสนั่นเมือง

เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ได้กล่าวถึงพิณว่า

ฝูงเคยเหล้น ตีตะโพนพิณพาทย์

ขับแข่งฮ้อง โคลงฟ้ากาพย์สาร

เรื่อง กาฬะเกษ ได้กล่าวถึงพิณว่า

เขาก็ ตึตะโพนพิณเสพสวนเสียงห้าว

ตาตีตั้ง ภาวแพรฮับราช

เรื่อง จำปาสี่ต้น ได้กล่าวว่า

ฟังยื่น ควรควนก้อง ดุริยาม่วนมี่พุ้นเยอ

พิรพาทย์ฆ้อง ยวงย้ายย่างเชิง

เรื่องพญาคันคาก ได้กล่าวว่า

คี่น ๆ ก้อง เสียงเสพนันตีพุ้นเยอ

ควน ๆ เสียง พาทย์พิณแคนได้

คนไทยได้เคยใช้พิณหรือซุงเป็นเครื่องบรรเลงมาแต่ครั้งโบราณ จากหลักฐานภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่เมืองโบราณ บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรูปนางทั้งห้า บรรเลงดุริยดนตรี นางหนึ่งบรรเลงพิณเพียะ นางหนึ่งดีดพิณ 5 สาย นางหนึ่งตีกรับ นางหนึ่งตีฉิ่ง และอีกนางหนึ่งเป็นนักร้องขับลำนำ ภาพปูนปั้นดังกล่าวเป็นศิลปะสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่า คงปั้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16(สำเร็จ คำโมง. 2538 : 477) สันนิษฐานว่าพิณเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งของเดิมมาจากจีนตอนใต้ โดยที่เราได้ดัดแปลงนำเข้าไปเล่นกับเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด ฆ้องวง ซอ กลอง ฉิ่ง ฯลฯ เราเรียกวงนี้ว่า วงพิณพาด ต่อมาพิณได้หายไปจากวงพิณพาด ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏกลับมาใช้ปี่แทน เรียกวงพิณพาดใหม่ว่า วงปี่พาด (ประยุทธ เหล็กกล้า.2512:44)

สำหรับซุง หรือพิณของคนไทยภาคอีสานนั้น น่าที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาจากสะนุ (หรือธนู) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีสายขึงเป็นรูปคันธนูใช้ดีดเล่นหรือผูกหัวว่าวชักขึ้นไปในท้องฟ้า ให้ลมบนพัดแล้วเกิดเสียงส่วนที่เป็นเต้าเสียงนั้น น่าที่จะมาจาก 2 ทาง คือ จากกระบอกไม้ไผ่ เพราะยังมีพิณกระบอกไม้ไผ่ให้เด็กเล่นอยู่ในสังคมไทยภาคอีสาน และอีกทางหนึ่งมาจากพิณสายเครือหญ้านาง ซึ่งขุดหลุมลงไปในดินเป็นเต้าขยายเสียง และขึงสายเครือหญ้านางเป็นสายพิณพาดบนปากหลุมนั้น มัดหัวท้ายของสายเข้ากับหลัก 2 หลัก เวลาเล่นใช้ตีหรือดีดสายเกิดเสียง ดังตึงตึงคล้ายกลอง

ที่มา http://www.oknation.net/blog/pin-thai/2008/10/30/entry-1

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

สำเนียงหรือทางของแคน


สำเนียงหรือทางของแคน
ลายแคน หากแบ่งออกเป็นกลุ่มท่วงทำนอง หรือสำเนียงทางเดินของเพลงแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มสำเนียงทางไมเนอร์ ประกอบด้วย ลายใหญ่ ลายน้อย และลายเซ
กลุ่มสำเนียงทางเมเจอร์ ประกอบด้วย ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย และลายสร้อย
ลายเพลงที่ออกสำเนียงทางไมเนอร์ จะให้อารมณ์เพลงได้ตั้งแต่สนุกสนาน จนถึงโศกซึ้งกินใจ ข้าพเจ้าขอเรียกเอาเองว่า ลายทางหวานตัวอย่างลายเพลงที่ออกสำเนียงทางไมเนอร์ เช่น
ลายลำเพลิน, ลายลำซิ่ง      ลายแมงภู่ตอมดอกไม้        ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก
ลายเต้ยโขง, ลายเต้ยธรรมดา, ลายเต้ยพม่า    ลายสังข์สินไซ     ลายเซิ้งบั้งไฟ
ลายลำโปงลาง     ลายลำตังหวาย     ลายภูไท 3 เผ่า     ฯลฯ
ลายเพลงที่ออกสำเนียงทางเมเจอร์ จะให้อารมณ์เพลงแบบกระชับอารมณ์ ถ้าเป็นเพลงเร็วก็เร้าใจ ถ้าเป็นเพลงช้า ก็ไพเราะ แต่ไม่ถึงกับเศร้าโศก ข้าพเจ้าขอเรียกว่า ลายทางส้มตัวอย่างลายเพลงที่ออกสำเนียงทางเมเจอร์ เช่น
ลายสีทันดร          ลายเซิ้งกะโป๋       ลายกั๊บแก๊บ           ลายแมงตับเต่า
ลายคอนสวรรค์   ลายเต้ยหัวโนนตาล            ลายชากใบ            ฯลฯ
ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=kaen12.php

คีย์ลายสร้อย


ลายแคนพื้นบ้านอีสาน
คีย์ลายสร้อย
ลายสร้อย คือทำนองลายโป้ซ้าย ที่เลื่อนบันไดจากบันไดซีโหมด มาเป็นบันไดดีโหมด และออกสำเนียงทางเมเจอร์เหมือนกัน
ชื่อลายสร้อย น่าจะมาจากภาษาไทยลาว ซึ่ง สร้อย(ส่อย) แปลว่า ฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะลายสร้อย คือลายที่ฉีกหรือแตกออกมา จากลายสุดสะแนนและลายโป้ซ้าย แต่เดินทำนองเหมือนทั้งสองลายดังกล่าว ได้ไม่ครบถ้วน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องช่วงทบเสียงไม่ครบ 2 ช่วงทบดี... จึงถือว่าเป็นเพียง สร้อย หรือส่วนย่อยของลายทั้งสองเท่านั้น
ลายสร้อยมีเสียงเร (เสียง D เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนอง 6 โน้ต คือ ร ม ซ ล ท 
แต่อย่างไรก็ตาม ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายสร้อยคือ ร ม ซ ล ท
บันไดเสียงลายสร้อย ควรเรียกว่าอยู่ในบันได D Mode ออกสำเนียงMajor ไม่ใช่บันได D Major แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง เร หรือ D และใช้เสียงเร เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันได G Major แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant)  คือเสียง D เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายสร้อย มีลายเซเป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายเซมีเสียง E หรือมี เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายสร้อย จึงต้องมีเสียง G หรือ ซอล เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงซอล หรือ G เป็นโทนิค ก็คือบันได G Major นั่นเอง
ดูตารางเทียบคู่โทนิคทางเมเจอร์และไมเนอร์

Tonic Major
Tonic Minor
คู่โทนิค
C
Am
F
Dm
G
Em

ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=soi.php

คีย์ลายโป้ซ้าย


ลายแคนพื้นบ้านอีสาน
คีย์ลายโป้ซ้าย
ลายโป้ซ้าย คือทำนองลายสุดสะแนน ที่เลื่อนบันไดจากบันไดจีโหมด มาเป็นบันไดซีโหมด และออกสำเนียงทางเมเจอร์เหมือนกัน
ชื่อลายโป้ซ้าย ตั้งขึ้นตามอากัปกิริยาของผู้เป่าแคน ที่ต้องใช้นิ้วโป้ซ้าย ปิดรูนับของลูกแคนเสียง โด (ลูกที่1 แพซ้าย) ไว้ตลอดเวลาที่บรรเลงลายโป้ซ้าย
ลายโป้ซ้ายมีเสียงโด (เสียง C เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนองได้ครบทั้ง 7 โน้ต คือ ด ร ม ฟ ซ ล ท 
แต่อย่างไรก็ตาม ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายโป้ซ้ายคือ ด ร ฟ ซ ล
บันไดเสียงลายโป้ซ้าย ควรเรียกว่าอยู่ในบันได C Mode ออกสำเนียงMajor ไม่ใช่บันได C Major แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง โด หรือ C และใช้เสียงโด เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันได F Major แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant)  คือเสียง C เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายโป้ซ้าย มีลายน้อยเป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายน้อยมีเสียง D หรือเร เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายโป้ซ้าย จึงต้องมีเสียง F หรือ ฟา เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงฟา หรือ F เป็นโทนิค ก็คือบันได F Major นั่นเอง
ดูตารางเทียบคู่โทนิคทางเมเจอร์และไมเนอร์

Tonic Major
Tonic Minor
คู่โทนิค
C
Am
F
Dm
G
Em

ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=posai.php